วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

งานศึกษาเพื่อทักษะชีวิต



                                                

 กิจกรรมทักษะงานทักษะชีวิต
 
    ด้วยโรงเรียนด่านทับตะโกราษฎร์อุปถัมภ์ ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นโรงเรียนนำร่องทักษะงานทักษะชีวิต พัฒนากระบวนการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวม เมื่อปีการศึกษา 2556  ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตร ได้พิจารณาความหมายของทักษะงานทักษะชีวิต ได้ดังนี้
                ทักษะงาน  คือ การลงมือทำงานต่างๆด้วยตนเอง โดยมุ่งเน้นการฝึกฝนวิธีการทำงานอย่างสม่ำเสมอ มีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้ 1.  การวิเคราะห์งาน   2.  การวางแผนการทำงาน  3.  การลงมือทำงาน                                      4. การประเมินผลงาน  ทักษะสำคัญที่นักเรียนควรมี คือ ทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์  ทักษะด้านการฟังและพูด  ทักษะด้านการเขียน  ทักษะด้านการแก้ปัญหา  ทักษะด้านการบริหารเวลา   มีมนุษย์สัมพันธ์เป็นเลิศ            มีความอดทน และมีทักษะด้านภาษาต่างประเทศ
                ทักษะชีวิต  เป็นความสามารถของบุคคลที่จะจัดการกับปัญหาต่างๆรอบตัวในสภาพสังคมปัจจุบัน และเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวในอนาคต
                สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดองค์ประกอบทักษะชีวิตที่สำคัญ ไว้                                                          4 องค์ประกอบ ดังนี้
                1.  การตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น
                                การรู้จักความถนัด ความสามารถ  จุดเด่น จุดด้อยของตนเอง เข้าใจความแตกต่างของแต่ละบุคคล รู้จักตนเอง ยอมรับ เห็นคุณค่า และภาคภูมิใจในตนเองและผู้อื่น มีเป้าหมายในชีวิตและมีความรับผิดชอบต่อสังคม
                2.  การวิเคราะห์ ตัดสินใจ  และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
                                การแยกแยะข้อมูล ข่าวสาร ปัญหาและสถานการณ์รอบตัว วิพากษ์วิจารณ์และประเมินสถานการณ์รอบตัวด้วยหลักเหตุผลและข้อมูลที่ถูกต้อง รับรู้ปัญหา หาทางเลือกและตัดสินใจแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆอย่างสร้างสรรค์
 
                3.  การจัดการกับอารมณ์และความเครียด
                                ความเข้าใจและรู้เท่าทันภาวะอารมณ์ของบุคคล รู้สาเหตุของความเครียด รู้วิธีการควบคุมอารมณ์และความเครียด รู้วิธีผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะก่อให้เกิดอารมณ์ไม่พึงประสงค์ไปในทางที่ดี
                4.  การสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น
                                การเข้าใจมุมมอง อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น ใช้ภาษาพูดและภาษากาย เพื่อสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของตนเอง รับรู้ความรู้สึกนึกคิดและความต้องการของผู้อื่น วางตัวได้ถูกต้อง เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ ใช้การสื่อสารที่สร้างสัมพันธ์ภาพที่ดี สร้างความร่วมมือและทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข
                จุดเน้นในการพัฒนาองค์ประกอบทักษะงานทักษะชีวิต มีดังนี้
 
ชั้น ม.1 รู้ความถนัด ความสามารถ และบุคลิกภาพของตนเอง
                รู้จักจุดเด่น จุดด้อยของตนเอง รู้เท่าทันชีวิต และสังคมที่เปลี่ยนแปลง และจัดการความขัดแย้งต่างๆอย่างเหมาะสม
ชั้น ม .2  ทำงานร่วมกับผู้อื่นบนพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตย และมีจิตอาสาช่วยเหลือสังคม
                กล้าแสดงความคิดเห็น ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ใช้การสื่อสารเชิงบวก ที่สร้างความสัมพันธ์                ที่ดี คลายเครียดด้วยวิธีการสร้างสรรค์ มีจิตอาสาช่วยเหลือสังคม
ชั้น ม .3  มีทักษะในการแสวงหาและใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์กับตนเอง รู้จักสร้างความสุขให้กับตนเองและผู้อื่น
                มีทักษะในการแสวงหาและใช้ข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้ แล้วนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ มีวิธีการสร้างความสุขให้กับตนเองและผู้อื่น
ชั้น ม .4  มีทักษะการกำหนดเป้าหมายและทิศทางการดำเนินชีวิตสู่ความสำเร็จ
                กำหนดทิศทางและวางแผนการดำเนินชีวิต  ปฏิบัติตนตามทิศทางเพื่อไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย
ชั้น ม. 5  วางตัวและกำหนดท่าทีได้เหมาะสมกับกับบุคคลและสถานการณ์ ทางความคิด
                วางตัวได้เหมาะสมกับบุคคล กาลเทศะ และสถานการณ์ที่มีความยืดหยุ่นทางความคิด
ชั้น ม. 6  ประเมินและสร้างข้อสรุปบทเรียนชีวิตของตนเอง
                ประเมินและสรุปผลการกระทำ ประสบการณ์ที่ดีของตนเองและผู้อื่น เป็นบทเรียนในชีวิตของตนเองและเป็นแนวทางการใช้ทักษะชีวิตในอนาคต
 
                โรงเรียนด่านทับตะโกราษฎร์อุปถัมภ์จัดชั่วโมงเรียนให้กับนักเรียน ดังนี้  ชั่วโมงสุดท้ายของ                 วันจันทร์  อังคาร และวันพุธ เป็นชั่วโมงแลกเปลี่ยน ครูทุกคนมีบทบาทเป็นครูพ่อ ครูแม่ มีหน้าที่ฝึกอบรมทักษะในการศึกษาค้นคว้าแบบบูรณาการ การวางแผนการทำงาน การนำเสนอผลงานและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ระดับชั้นม.1- ม.6  มีจำนวนทั้งสิ้น  29 กลุ่ม มีชื่อเรียกกลุ่มต่างๆ อาทิเช่น กลุ่ม Minus ลบ                     กลุ่ม Gerbera  กลุ่มการเวก  กลุ่ม แรด  กลุ่มพระราม กลุ่ม สีดา เป็นต้น
              วันพฤหัส ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 5-8  เป็นชั่วโมงเรียนรู้  ครูทุกคนจะมีบทบาทเป็นวิทยากร จัดกิจกรรมต่างๆตามความถนัด ความสนใจของครูทุกคน ทุกกลุ่มสาระ นักเรียนชั้น ม.1- 4 จะเลือกเรียนตามความถนัดและความสนใจของตนเอง มีทั้งสิ้น 31 กิจกรรม อาทิเช่น  กิจกรรมสนทนาภาษาอังกฤษ  อารยธรรมจีน คณิตพาเพลิน  English is Fun    Star World  ดนตรีไทย  ตะกร้อ  ดนตรีสากล เพลงคุณธรรม ขนมไทย  อาหารในวรรณคดี  โอริงามิ  กลองยาว  แดนซ์เซอร์  เป็นต้น
ส่วนนักเรียนชั้น ม.5 - ม.6 จะทำโครงงานเกี่ยวกับ เศรษฐกิจพอเพียง ศิลปวัฒนธรรม  หรือสิ่งแวดล้อม มีทั้งสิ้น 15 โครงงาน อาทิเช่น  โครงงาน สืบสานตำนานกลองยาว  โครงงานน้ำส้มควันไม้ โครงงานCatfish ภารกิจพิชิตใจ    โครงงานร้านค้าพารวย  โครงงานไข่ทองคำ  โครงงานคืนกล้วยไม้สู่ป่าโรงเรียน โครงงานผักต้มยำผักทำแกง  โครงงานไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้ โครงงานมะนาวหวาน โครงงานพืชผักสวนครัว  โครงงานทิพย์ดุริยางค์   เป็นต้น
               
การประเมินกิจกรรมทักษะงานทักษะชีวิต
                เป็นการประเมินพฤติกรรมผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพื่อพัฒนาผู้เรียนแต่ละคนให้มีพัฒนาการที่ดีตรงตามความต้องการของท้องถิ่นและสังคมโดย การประเมินความสามารถหรือแนวทางในการเผชิญสถานการณ์ต่างๆของผู้เรียนด้วยวิธีการสังเกต การแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่กำหนดให้และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง ความคิด ความเชื่อ การรู้คิด และภูมิคุ้มกันทางปัญญา จากการสะท้อนความคิด และการแสดงพฤติกรรมต่อเนื่องหลังการเรียนรู้ ฯลฯ ซึ่งผู้ประเมินอาจเป็นครู เพื่อน ผู้ปกครองหรือผู้เรียนเป็นผู้ประเมินตนเอง



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น