วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

การสอบปลายภาค







หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ใช้หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551 เป็นหลักสูตรที่มุ่งจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองอุดมการณ์การจัดการศึกษาตลอดชีวิต การสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตามปรัชญา “คิดเป็น” เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและสังคม มีการบูรณาการอย่างสมดุลระหว่างปัญญาธรรม ศีลธรรม และวัฒนธรรม มุ่งสร้างพื้นฐานการเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และพัฒนาความสามารถเพื่อการทำงานที่มีคุณภาพ โดยให้ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมจัดการศึกษาให้ตรงตามความต้องการของผู้เรียน และสามารถตรวจสอบได้ว่า การศึกษานอกระบบเป็นกระบวนการของการพัฒนาชีวิตและสังคม สามารถพึ่งพาตนเองได้ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เป็นหลักสูตรที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหา ความต้องการของบุคคลที่อยู่นอกระบบโรงเรียน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ประสบการณ์จากการทำงาน และการประกอบอาชีพ โดยการกำหนดสาระการเรียนรู้ มาตรฐานการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลุ่มเป้าหมายด้านจิตใจให้มีคุณธรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาการเรียนรู้ สร้างภูมิคุ้มกัน สามารถจัดการกับองค์ความรู้ ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีเพื่อให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สร้างภูมิคุ้มกันตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งคำนึงถึงธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้ที่อยู่นอกระบบ และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสาร
หลักการ
        หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กำหนดหลักการไว้ดังนี้
        1. เป็นหลักสูตรที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นด้านสาระการเรียนรู้ เวลาเรียน และการจัดการเรียนรู้ โดยเน้นการบูรณาการเนื้อหาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความแตกต่างของบุคคล ชุมชน และสังคม
        2. ส่งเสริมให้มีการเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
        3. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยตระหนักว่าผู้เรียนมีความสำคัญ สามารถพัฒนาตนเองได้ตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ
        4. ส่งเสริมให้ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
จุดหมาย
        หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม มีสติปัญญา มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักยภาพในการประกอบอาชีพและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ต้องการ จึงกำหนดจุดหมายดังต่อไปนี้
        1. มีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข
        2. มีความรู้พื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
        3. มีความสามารถในการประกอบสัมมาอาชีพให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัด และตามทันความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
        4. มีทักษะการดำเนินชีวิตที่ดี และสามารถจัดการกับชีวิต ชุมชน สังคมได้อย่างมีความสุขตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
        5. มีความเข้าใจประวัติศาสตร์ชาติไทย ภูมิใจในความเป็นไทย โดยเฉพาะภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี กีฬา ภูมิปัญญาไทย ความเป็นพลเมืองดี ปฏิบัติตนตามหลักธรรมของศาสนา
ยึดมั่นในวิถีชีวิต และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
        6. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
        7. เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ มีทักษะในการแสวงหาความรู้ สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ และบูรณาการความรู้มาใช้ในการพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
ระดับการศึกษา
        ระดับการศึกษาแบ่งระดับการศึกษาออกเป็น 3 ระดับ คือ 
        - ระดับประถมศึกษา 
        - ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 
        - ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 
        โดยแต่ละระดับใช้เวลาเรียน 4 ภาคเรียน ยกเว้นกรณีที่มีการเทียบโอน แต่ทั้งนี้ต้องลงทะเบียนเรียนในสถานศึกษาอย่างน้อย 1 ภาคเรียน
สาระการเรียนรู้
        สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ประกอบด้วย 5 สาระการเรียนรู้ และ 18 มาตรฐานการเรียนรู้ ดังนี้

1. สาระทักษะการเรียนรู้ ประกอบด้วย 5 มาตรฐาน ดังนี้
        มาตรฐานที่ 1.1 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง
        มาตรฐานที่ 1.2 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการใช้แหล่งเรียนรู้
        มาตรฐานที่ 1.3 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการจัดการความรู้
        มาตรฐานที่ 1.4 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการคิดเป็น
        มาตรฐานที่ 1.5 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการวิจัยอย่างง่าย

2. สาระความรู้พื้นฐาน ประกอบด้วย 2 มาตรฐาน ดังนี้
        มาตรฐานที่ 2.1 มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับภาษาและการสื่อสาร
        มาตรฐานที่ 2.2 มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

3. สาระการประกอบอาชีพ ประกอบด้วย 4 มาตรฐาน ดังนี้
        มาตรฐานที่ 3.1 มีความรู้ ความเข้าใจ และเจตคติที่ดีในงานอาชีพ มองเห็นช่องทาง และตัดสินใจประกอบอาชีพได้ตามความต้องการ และศักยภาพของตนเอง
4. สาระทักษะการดำเนินชีวิต ประกอบด้วย 3 มาตรฐาน ดังนี้
        มาตรฐานที่ 4.1 มีความรู้ ความเข้าใจ เจตคติที่ดีเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 
และสามารถประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม
        มาตรฐานที่ 4.2 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีเกี่ยวกับการดูแล ส่งเสริมสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต
        มาตรฐานที่ 4.3 มีความรู้ ความเข้าใจ และเจตคติที่ดีเกี่ยวกับศิลปะและ สุนทรียภาพ

5. สาระการพัฒนาสังคม ประกอบด้วย 4 มาตรฐาน ดังนี้
        มาตรฐานที่ 5.1 มีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมือง การปกครอง สามารถนำมาปรับใช้ในการดำรงชีวิต
        มาตรฐานที่ 5.2 มีความรู้ ความเข้าใจ เห็นคุณค่า และสืบทอดศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
        มาตรฐานที่ 5.3 ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย มีจิตสาธารณะ เพื่อความสงบสุขของสังคม
        มาตรฐานที่ 5.4 มีความรู้ ความเข้าใจ เห็นความสำคัญของหลักการพัฒนา และสามารถพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน/สังคม

หมายเหตุ สาระการเรียนรู้ความรู้พื้นฐาน มาตรฐานที่ 2.1 มีความรู้ความเข้าใจทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับภาษาและการสื่อสาร ซึ่งภาษาในมาตรฐานนี้หมายถึง ภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ 
 
รูปแบบการจัดการศึกษานอกโรงเรียน

        สถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จัดบริการการศึกษา ขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายให้กับประชาชน 3 รูปแบบ ดังนี้
       1. แบบพบกลุ่ม
       2. แบบทางไกล
       3. แบบเทียบระดับการศึกษา



แบบพบกลุ่ม

       เป็นการจัดการศึกษาให้กับประชาชนที่ต้องการเพิ่มความรู้ให้กับตนเองและมีเวลามาพบกลุ่ม ทุกสัปดาห์ ๆ ละไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง ในวันและเวลาใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานศึกษาและผู้เรียนตกลงกัน ใช้เวลาภาคเรียนละไม่น้อยกว่า 20 สัปดาห์ โดยรวมกับเวลาสอบ การจัดการศึกษาดังกล่าวจะมีคะแนนเก็บกลางภาค และทดสอบปลายภาค แล้วนำผลคะแนนมารวมกันเพื่อตัดสินผลการเรียน และเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง รูปแบบนี้เหมาะสมกับผู้มีเวลามาพบกลุ่มทุกสัปดาห์ และเปิดบริการทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย


แบบทางไกล

       การศึกษารูปแบบทางไกล ผู้เรียนลงทะเบียนเรียนแล้วให้ศึกษาด้วยตนเองจากชุดการเรียนทางไกล ห้องสมุด อินเตอร์เน็ต หรือสื่ออื่น ๆ และเข้าสอบปลายภาค ณ สถานที่ที่สถานศึกษากำหนด การจัดการศึกษาแบบทางไกล ผู้เรียนจะไม่มีคะแนนเก็บกลางภาคใช้คะแนนสอบปลายภาคเป็นการตัดสินผลการเรียน นอกจากนี้ต้องทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง รูปแบบนี้เหมาะสมกับผู้เรียนที่ไม่มีเวลามาเรียน ทุกสัปดาห์ รับผู้เรียนเฉพาะระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เท่านั้น


แบบเทียบระดับการศึกษา

       การศึกษาแบบนี้เป็นการประมวลประสบการณ์และความรู้ที่เป็นองค์รวมของ บุคคลตามคุณลักษณะ ที่สำคัญในด้านความรู้ ทักษะ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม เพื่อรับรองความรู้ ความสามารถของผู้เข้ารับการประเมินให้เป็นไปตามมาตรฐานการเรียนรู้ เท่ากับระดับการศึกษาของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้เข้ารับการประเมินต้องลงทะเบียนเข้ารับการประเมินและเสียค่าลงทะเบียน จากนั้นจัดทำแฟ้มผลงานตามองค์ประกอบ 4 องค์ประกอบ และเตรียมตัวเข้ารับการประเมิน โดยมีการสอบข้อเขียน ปฏิบัติ และสัมภาษณ์ ตามวิธีการที่สถานศึกษากำหนด รูปแบบนี้ เหมาะสมกับผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์การทำงาน ไม่ต้องมาเรียนแต่ต้องเตรียมองค์ความรู้ของตนเพื่อเข้ารับการประเมิน เปิดบริการประเมิน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย
สาระการจัดการศึกษานอกโรงเรียน แบบพบกลุ่ม
       การจัดการศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ได้ยึดสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544  โดยมีการปรับสาระการเรียนรู้ในแต่ละระดับการศึกษาให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายผู้เรียนการศึกษานอกระบบ ดังนี้
       1.  สาระการเรียนรู้ที่ต้องเรียนในแต่ละระดับการศึกษา สาระการเรียนรู้การศึกษานอกโรงเรียน มี 8 หมวดวิชา ประกอบด้วย กลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน 4 หมวดวิชา ได้แก่ หมวดวิชาภาษาไทย หมวดวิชาคณิตศาสตร์ หมวดวิชาวิทยาศาสตร์ และหมวดวิชาภาษาต่างประเทศ และหมวดวิชาประสบการณ์ 4 หมวดวิชา ได้แก่ หมวดวิชาพัฒนาสังคมและชุมชน หมวดวิชาพัฒนาทักษะชีวิต 1 (พลานามัย) หมวดวิชาพัฒนาทักษะชีวิต 2 (ดนตรีและนาฏศิลป์) และหมวดวิชาพัฒนาอาชีพ ซึ่งผู้เรียนทุกระดับการศึกษาต้องเรียนให้ครบทั้งกลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน และกลุ่มหมวดวิชาประสบการณ์
       2.  กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนได้นำมวลประสบการณ์และทักษะ ที่ได้จากการเรียนรู้ตามหลักสูตร ไปพัฒนาความรู้ความสามารถของตนตามศักยภาพเพิ่มเติมจากกิจกรรมที่จัดให้เรียน รู้ในหมวดวิชาต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม โดยใช้กระบวนการ คิดเป็น ในการดำเนินกิจกรรมบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม และกระบวนการกลุ่มอันจะส่งผลให้ผู้เรียน เป็นคนดี มีคุณธรรม และมีความสุข ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นเงื่อนไขที่ผู้เรียนทุกคนต้องทำก่อนการจบหลักสูตร โดยให้ผู้เรียนทำกิจกรรมดังกล่าวทุกภาคเรียน หรือภาคเรียนใดภาคเรียนหนึ่งรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง โดยสามารถนำความรู้ที่ได้จากการอบรมหรือการเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ต่อสังคม มานับรวมเป็นกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ ทั้งนี้กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
              2.1   กิจกรรมพัฒนาตนเองและครอบครัว เป็นกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสิ่งแวดล้อมของครอบครัว เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต อยู่ร่วมในสังคมและชุมชน ได้อย่างมีความสุข
              2.2   กิจกรรมพัฒนาชุมชนและสังคม เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ตลอดจนการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น